สภาพจิตใจที่บอบช้ำจากความคาดหวัง เป็นหนึ่งในสิ่งที่พบได้มากในคนไข้เด็กและวัยรุ่น ความคาดหวังที่ถูกตั้งอย่างไม่เหมาะสม แทนที่จะดึงเราไปสู่จุดที่สูงขึ้น กลับเป็นแรงกดดันให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ตอนที่พ่อแม่จะคลอดบุตร พ่อแม่คาดหวังว่าจะได้ลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
เมื่อลูกเติบโตขึ้น ความคาดหวังของพ่อแม่ก็มากขึ้น เราอยากให้ลูกเรียนเก่ง เชื่อฟัง มารยาทงาม กีฬาเก่ง เด่นกิจกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะคาดหวัง
เด็กเองเมื่อรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ ก็อยากจะตอบสนองความคาดหวังนั้นเพื่อจะได้ความรักตอบแทน จึงดึงความคาดหวังของพ่อแม่บางส่วนมาเป็นความคาดหวังของตนเอง เมื่อเด็กทำได้ดี พ่อแม่ยิ้มแย้มชื่มชม ลูกยิ้มตอบรับ เกิดเป็นกำลังใจในการทำพฤติกรรมดียิ่งขึ้นต่อไป
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อความคาดหวังถูกผันแปรไปจนกลายเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อฝืนธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้บ่อยๆก็เกิดเป็นความทุกข์
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ธรรมชาติของวัยรุ่นคือเป็นตัวของตัวเอง ถึงจุดหนึ่งเด็กจะมีความคาดหวังในตนเองซึ่งเป็นอิสระจากพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง
ณ จุดนั้น หากพ่อแม่บังเอิญมีความคาดหวังที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น
คาดหวังในสิ่งที่ยากมากเกินความสามารถเด็ก
คาดหวังจริงจังในสิ่งยิบย่อยทุกอย่างในชีวิตประจำวัน
ความคาดหวังที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น
คาดหวังให้เด็กใช้ชีวิตตามที่เราต้องการ
แล้วเด็กบางคน ด้วยความเป็นเด็กดี เชื่อฟัง รักพ่อรักแม่ ก็ก้มหน้าก้มตารับเอาความคาดหวังเหล่านี้มาแบกรับไว้ แต่เมื่อตัวความคาดหวังเป็นสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของตนเอง จึงทำไม่ได้ หรือต้องทำด้วยความฝืนทนอย่างมาก สุดท้ายสิ่งที่ความคาดหวัง (ที่มักมาจากความปรารถนาดี) มอบให้ คือความทุกข์ ความขัดแย้งภายใน และ ความบอบช้ำทางจิตใจ
ดังนั้น ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะต้องเข้ากับธรรมชาติ/ศักยภาพของบุคคล มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่สิ่งของที่เอามาแบกไว้บนบ่า แต่เป็นเพื่อนร่วมทางที่เดินข้างๆเป็นพลังนำทางเราไปยังที่ใหม่ๆ
Comments