top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

รูปภาพนักเขียนแพทย์หญิงอารดา โตวิศิษฐชัย

Social phobia…เมื่อคุณกลัวเวลาต้องคุยกับคนอื่น

อัปเดตเมื่อ 5 เม.ย. 2564




คุณเคยรู้สึกกังวลเวลาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือไม่?


เคยบ้างไหมที่กลัวจนใจสั่นกับการต้องออกไปนำเสนองานต่อหน้าคนจำนวนมาก?


และมีสักครั้งบ้างไหมที่ถึงกับต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้?


ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองเราในแง่ที่ไม่ดี…


หากคุณประสบกับปัญหาเหล่านี้ ขอให้คุณรู้ไว้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่พบเจอกับมัน มีผู้คนอีกมากมายที่ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน สำหรับบางคน การเผชิญหน้ากับความกังวลในการติดต่อกับคนอื่นอาจเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ได้ยากเกินไปนักในการจัดการ แต่ในหลายๆคน ความกังวลเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างง่ายดาย และเมื่อไหร่ที่มันเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตแล้ว ก็อาจจะต้องนึกถึงภาวะทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Social phobia หรือ Social anxiety disorder


Social phobia หรือ social anxiety disorder เป็นภาวะทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ไม่ได้น้อยจนเกินไป มีหลายสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุทางพันธุกรรม สาเหตุจากสารเคมีทางสมองที่เปลี่ยนแปลงไป สาเหตุจากการเลี้ยงดู หรือในบางคนอาจจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนเลยก็เป็นได้


คนส่วนใหญ่ที่พบเจอกับภาวะนี้ มักจะเผชิญกับมันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น พวกเขาเหล่านี้จะกลัวกับการต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น กลัวการพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อคนอื่นนั้นเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน กลัวการพูดหรือนำเสนอต่อหน้าคนจำนวนมากๆ บางคนอาจจะกลัวแม้กระทั่งการกินข้าวในที่สาธารณะ โดยความกลัวเหล่านี้ล้วนเกิดจากเหตุผลข้อเดียว นั่นคือ กลัวว่าตนเองจะถูกตัดสิน กลัวว่าผู้อื่นจะมองตนเองในทางที่ไม่ดี กลัวว่าพวกเขาจะถูกปฏิเสธหรือถูกทำให้อับอาย ซึ่งความกังวลนี้จะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และพวกเขาก็ต้องคอยหาทางหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคมต่างๆที่ทำให้ตนเองกังวล หรือบางคนอาจจะเลือกที่จะอดทนอยู่กับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างทรมานสุดๆ จนในที่สุดความกลัวที่มากเกินไปเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต บางคนอาจต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อทำให้ตนเองกังวลลดลง บางคนอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว หรือบางคนอาจจะประสบปัญหาโรคซึมเศร้าร่วมกันไปด้วยเลยก็มีบ้างเหมือนกัน


อย่างไรก็ตาม social phobia เป็นภาวะที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะด้วยการกินยาเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้สามารถจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น หรือบางคนที่ไม่ได้มีภาวะนี้รุนแรงนัก ก็อาจจะรับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว ก็ดีขึ้นได้เหมือนกัน


สุดท้าย หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะ Social phobia เกิดขึ้นมาจริงๆ ก็แนะนำให้ไปตรวจกับจิตแพทย์ตามสถานพยาบาลที่สะดวกเพื่อจะได้รับการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน หรือหากประเมินแล้วพบว่าไม่ถึงขั้นที่ต้องได้รับการรักษา การไปพบ จิตแพทย์ หรือ นักจิตบำบัด ก็สามารถช่วยคุณให้พัฒนากลายเป็นคุณในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นได้นะ


Comments


bottom of page