top of page
Gradient

บทความสุขภาพจิต

รวมบทความน่ารู้ จากทีมให้คำปรึกษาของ The Oasis

รูปภาพนักเขียนพัชรินทร์ แซ่เจี่ย

โยคะ ช่วยเรื่อง จิตบำบัด อย่างไร

อัปเดตเมื่อ 8 ก.พ. 2564

กระบวนการทำ จิตบำบัด จะใช้การพูดคุยเป็นหลัก เพื่อสำรวจที่มาของปัญหา หรือความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจบางอย่าง แต่บ่อยครั้งที่การพูดคุยไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น เราไม่สามารถอธิบายความคิด ความรู้สึกของเราได้อย่างชัดเจน หรือเรายังไม่เข้าใจจริงๆว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร หรือแม้แต่บางครั้งที่เราพูดคุย และเข้าใจถึงปัญหาของตนเองในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถพาตัวเองออกจากความรู้สึกหรือความคิดที่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้

โยคะ และ จิตบำบัด
โยคะ และ จิตบำบัด

การฝึก โยคะ จะเป็นการโฟกัสไปยังอีกด้านหนึ่งของปัญหา คือ แทนที่เราจะโฟกัสแต่ด้านอารมณ์ ความรู้สึก แล้วพยายามสื่อสารออกมาให้นักจิตบำบัดฟังเท่านั้น แต่เราจะหันมาโฟกัสที่ร่างกาย ฟังเสียงที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเรา โดยไม่ตัดสิน ไม่ว่าที่ร่างกายเราจะรู้สึกอย่างไร เช่น ที่แผ่นหลัง เราอาจจะรู้สึกตึงมากจนปวด หรือ ที่แขนเราอาจจะรู้สึกไม่มีแรง แทนที่จะตัดสินว่าเราอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเลย แต่โยคะจะส่งเสริมให้เรารับฟังเสียงจากร่างกายของเราอย่างเข้าใจ อ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจ ยอมรับ และเคารพในตนเอง


เมื่อการตระหนักรู้ร่างกาย และการยอมรับตนเองเกิดขึ้น จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ในอารมณ์ตนเองได้ง่ายขึ้น


ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำการทดลองโดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดเพียงอย่างเดียว กับ กลุ่มผู้ป่วยที่ทำจิตบำบัดร่วมกับการฝึกโยคะ พบว่า กลุ่มที่ฝึกโยคะร่วมด้วย มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ทำจิตบำบัดอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่อง การนอนหลับที่ดีขึ้น อารมณ์เศร้า วิตกกังวลลดลง อาการปวดเรื้อรังทางกายลดลง ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล panic attack และ PTSD ทั้งนี้ ในงานวิจัยเหล่านั้น ล้วนเป็นการจัดโปรแกรมให้ผู้ป่วยเข้ารับการฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอตามกำหนด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์


ผู้ฝึกโยคะจะได้เรียนรู้การอยู่กับตนเองอย่างสงบ สังเกตและรับฟังร่างกายของตนเอง เคลื่อนไหวอย่างมีสติ เรียนรู้ที่จะฝึกเทคนิคการหายใจ และเทคนิคการผ่อนคลายตนเองเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลตนเองได้เมื่ออยู่นอกห้องโยคะ


ปัจจุบันโยคะ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ นักจิตบำบัด และ จิตแพทย์ แนะนำให้ผู้ป่วยฝึกปฏิบัติควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด เพื่อผลการรักษาที่เห็นผลเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


อ้างอิงจาก

ดู 320 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page